ลำดับพิธีบรรพชาอุปสมบท

ลำดับพิธีบรรพชาอุปสมบท


การลาญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ เป็นเรื่องที่ผู้จะบวชพึงทำ วิธีปฏิบัติคือ ให้เตรียมกระทงดอกไม้มีกรวยครอบ พร้อมธูปเทียนแพวางลงบนพาน เมื่อไปถึงผู้ที่จะรับการลา ก็เข้าไปกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง เปิดกรวยกระทงดอกไม้แล้วยกขึ้นประคองต่อหน้าผู้รับการลาพร้อมกับกล่าวคำขอขมาว่า


“กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินต่อท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งที่รู้และไม่รู้ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งเพศพรหมจรรย์ ขอท่านโปรดอโหสิกรรมนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วย เทอญ”


ญาติผู้ใหญ่จะเอื้อมมือมาแตะพาน แล้วกล่าวว่า


“สาธุ ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้เธอทุกอย่าง และขอให้เธอจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อท่านที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ทดแทนคุณบิดามารดา และจงเป็นศาสนทายาท สืบต่อพระพุทธศาสนาด้วยดีในเพศพรหมจรรย์ เทอญ”

จบแล้วนาคจึงเอาพานวางที่พื้น กราบเบญจางคประดิษฐ์อีกสามครั้ง แล้วนั่งพับเพียบ เมื่อสนทนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว บอกลาท่าน ท่านจะมอบพานดอกไม้ เทียนแพคืนให้ เพื่อจะได้นำไปใช้ลาท่านผู้อื่นต่อไป


การปลงผม ถ้าในงานบวชนาคนั้นมีพิธีทำขวัญนาคด้วย ก็จะปลงผมก่อนวันบวชหนึ่งวัน แล้วนุ่งขาวห่มขาวเข้าพิธีทำขวัญนาค ถ้าไม่มีการทำขวัญนาคก็จะปลงผมในวันบวช โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ หรือพระภิกษุที่คุ้นเคยเป็นผู้ขลิบปลายผมให้ก่อนเป็นพิธี ต่อจากนั้นก็ให้ผู้ทีโกนผมเป็นโกนผม หนวด เครา คิ้ว ให้หมดจด อาบน้ำแล้ว นุ่งขาวห่มขาว เตรียมเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบรรพชาอุปสมบทต่อไป


การนำนาคเข้าโบสถ์ ตามประเพณีนิยม มักปลงผมนาค และทำขวัญนาคที่บ้านของเจ้านาค วันรุ่งขึ้นจึงมีขบวนแห่ไปยังวัด แล้วแห่นาคไปยังโบสถ์ เวียนโบสถ์สามรอบแบบทักษิณาวรรต พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขารที่ใช้ในการบวช และของที่ถวายพระ จนครบแล้วจะให้นาคมาวันทาสีมา ส่วนเครื่องอัฏฐบริขาร และของถวายพระ จะนำไปตั้งในโบสถ์ก่อน การวันทาสีมา นาคจะจุดธูปเทียนที่เสมาหน้าโบสถ์ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวคำวันทาสีมา ดังนี้ แบบที่หนึ่ง อิมินา สกฺกาเร พทฺธเสมายํ พุทฺธํ อภิปูชยามิ

อิมินา สกฺกาเร พทฺธเสมายํ ธมฺมํ อภิปูชยามิ

อิมินา สกฺกาเร พทฺธเสมายํ สงฺฆํ อภิปูชยามิ

แล้วกราบปักดอกไม้ ธูปเทียน ณ ที่จัดไว้ แบบที่สอง อุกาส วนฺทามิ ภนฺเต สพฺพํ อปราธํ ขมถ เม ภนฺเต มยา กตํ ปญฺญํ สามินา

อนุโมทิตพฺพํ สามินา กตํ ปุญญํ มยฺหํ ทาตพฺพํ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

แล้วกราบ ปักดอกไม้ธูปเทียน ณ ที่จัดไว้


เมื่อวันทาเสมาเสร็จแล้ว นำนาคมาที่หน้าโบสถ์ นาคจะโปรยทาน เสร็จแล้วจึงจูงนาคเข้าโบสถ์ โดยบิดาจูงมือข้างขวา มารดาจูงมือข้างซ้าย พวกญาติคอยจับชายผ้าตามส่งข้างหลัง นาคต้องก้าวข้ามธรณีประตูห้ามเหยียบเป็นอันขาด เมื่อพ้นประตูไปแล้วให้เดินตรงไปที่พระปรธาน ไหว้พระประธานโดยใช้ดอกไม้ธูปเทียนอีกหนึ่งกำนำไปจุดธูปเทียนบูชาพระประธาน ใช้คำบูชาพระเหมือนคำวันทาเสมาข้างต้น แล้วกลับมานั่ง ณ ที่ซึ่งจัดไว้แถวผนังด้านหน้าของโบสถ์


พิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อถึงกำหนด พระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาในพิธีบวชมีพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดและพระอันดับจะเข้าอุโบสถ นั่งตามแผนผังที่คณะสงฆ์กำหนด พิธีเริ่มโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่เข้ามานั่งข้างหน้านาค เพื่อจะมอบผ้าไตรให้นาคเข้าทำพิธีบวชต่อพระสงฆ์ต่อไป ซึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีซ้อมขานนาคที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพระอุปัชฌาย์บอก อนุศาสน์เสร็จแล้ว เจ้าภาพ ญาติมิตรถวายของพระอันดับ พระใหม่ถวายพระอาจารย์คู่สวดอีกหนึ่งรูปที่ยังมิได้ถวาย


ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะบอกให้พระใหม่มานั่งรับประเคนของบริวารบวชที่ด้านหน้า พระใหม่จะออกมานั่งพับเพียบอยู่ท้ายอาสนสงฆ์ ทอดผ้ากราบไว้ข้างหน้า หากผู้ชายประเคนก็รับของด้วยมือ หากเป็นผู้หญิงก็จับผ้ากราบไว้ โยมผู้หญิงจะวางบนผ้ากราบ เมื่อรับของประเคนหมดแล้ว ให้กลับนั่งหันหน้ามาทางพระสงฆ์ เตรียมกรวดน้ำ


การกรวดน้ำ เมื่อเสร็จการรับประเคนแล้ว พระใหม่และพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือเจ้าภาพในการบวชครั้งนี้ จะกรวดน้ำโดยใช้เต้ากรวดน้ำคนละที่ เมื่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในที่นั้น เริ่มบทอนุโมทนาว่า ยถา วารีวหา ปูร ….พระใหม่และญาติที่เป็นเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำพร้อมกัน เมื่อขึ้นบท สพฺพีติโย…. ก็กรวดน้ำหมดเต้าพอดี นั่งพนมมือรับพรจากพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระใหม่กราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีการบวช หลังจากนั้นพระพี่เลี้ยงจะนำพระใหม่ขึ้นจากโบสถ์ พระใหม่ควรสะพายบาตรด้วยไหล่ขวา มือซ้ายถือพัด ส่วนของอื่นให้ผู้อื่นถือไป พระพี่เลี้ยงจะนำออกทางประตูหน้า


คำขอบรรพชาอุปสมบทใหม่ (สำหรับนาคคนเดียว)

เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ , ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ , ธมฺมญฺจ ภิกขุสงฺฆญฺจ , ลเภยฺยาหํ ภนฺเต ตสฺส ภควโต ธมฺมวินเย , ปพฺพชฺชํ ลเภยฺยํ อุปสมฺปทํ

ทุติยมฺปิ….

ตติยมฺปิ…

อหํ ภนฺเต ปพฺพชฺชํ ยาจามิ , อิมานิ กาสายานิ วตฺถานิ คเหตฺวา ปพฺพาเชถ มํ ภนฺเต อนุกมฺปํ อุปาทาย

ทุติยมฺปิ….

ตติยมฺปิ…


ตจปัญจกัมมัฏฐาน โดยอนุโลม เกษา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ

โดยปฏิโลม ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกษา


คำขอสรณาคมน์และศีล อหํ ภนฺเต สรณสีลํ ยาจาม

ทุติยมฺปิ…..

ตติยมฺปิ…..


บทนมัสการ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (สามหน)

พระอาจารย์กล่าวว่า ยมฺหํ วทามิ ตํ วเทหิ

ผู้บรรพชากล่าวรับว่า อาม ภนฺเต

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆงฺ สรณํ คจฺฉามิ

ทุติยมฺปิ…..

ตติยมฺปิ…. พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ พระอาจารย์ว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ผู้บรรพชารับว่า อาม ภนฺเต


ศีลสิบ ปาณาติ ปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

ฯลฯ

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ


คำขอนิสสัย อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ

ทุติยมฺปิ …..

ตติยมฺปิ…….

อุปชฺชาโย เม ภนฺเต โหหิ (ว่าสามหน) พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า ปฏิรูปํ

ผู้บรรพชากล่าวรับว่า สาธุ ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า โอปายิกํ

ผู้บรรพชากล่าวรับว่า สาธุ ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า ปาสาทิเกน สมฺปาเทหิ

ผู้บรรพชากล่าวรับว่า สาธุ ภนฺเต

อชฺชตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร (ผู้บรรพชาว่าสามครั้ง)


คำบอกสมณบริขาร พระอุปัชฌาย์บอกว่า อยนฺเต ปตฺโต ผู้บรรพชารับว่า อาม ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์บอกว่า อยํ สงฺฆาฏิ ผู้บรรพชารับว่า อาม ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์บอกว่า อยํ อุตตราสงฺโค ผู้บรรพชารับว่า อาม ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์บอกว่า อยํ อนฺตราวาสโก ผู้บรรพชารับว่า อาม ภนฺเต

คจฺฉ อมุมฺหิ โอกาเส ติฏฐานิ


คำขานนาค พระคู่สวดว่า กุฏฐํ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า คณฺโฑ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า กิลาโส นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า โสโส นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า อปมาโร นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า มนุสโสสิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า ปุริโสสิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า ภูชิสฺโสสิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า อนโณสิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า นสิ ราชภโฏ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า ปริปุณณวีสติวสฺโสสิ นาคขานว่า อหํ ภนฺเต (ปญฺญาธโร นาม)

พระคู่สวดว่า กินฺนาโมสิ นาคขานว่า นตฺถิ ภนฺเต

พระคู่สวดว่า โก นาม เต อุปชฺฌาโย นาคขานว่า อุปชฺฌาโย เม ภนฺเตอายสฺมา (ติสฺสเทโว นาม)


คำขออุปสมบท

สงฺฆมฺภนฺเต อุปสมฺปทํ ยาจามิ , อุลฺลุมฺปตุ มํ ภนฺเต สงฺโฆ , อนุกมฺปํ อุปาทาย

ทุติยมฺปิ……

ตติยมฺปิ……


บุพพกิจสำหรับภิกษุใหม่

กิจเบื้องต้นที่พระบวชใหม่จะต้องกระทำคือการพินทุกัปปะ กับการอธิษฐานเครื่องบริขาร โดยพระพี่เลี้ยงจะแนะนำให้ คือ


การทำพินทุกัปปะ เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุว่า จะต้องทำเครื่องนุ่งห่ม ของใช้บางอย่างให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ เป็นหน้าที่พระอุปัชฌาย์จะแนะนำ หรือมอบหมายให้พระรูปหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการทำพินธุกัปปะให้ การทำพินธุกัปปะต้องใช้ดินสอดำหรือสีดำ ทำจุดให้เป็นวงกลมหรือเลขศูนย์เล็ก ๆ โดยใช้ดินสอลากลงไปที่มุมใดมุมหนึ่ง พอเป็นที่สังเกต พร้อมกับเปล่งคำว่า อิมํ พินทุกัปปํ กโรมิ


เมื่อทำการพินทุกัปปะแล้วต้องทำการอธิษฐานบริขารนั้นด้วย จึงจะใช้ได้ บริขารที่กำหนดให้อธิษฐาน เช่น ไตรจีวร บาตร ผ้าปูนั่ง เป็นต้น ควรแยกอธิษฐานเป็นอย่าง ๆ ไป มีคำอธิษฐาน ดังนี้ ผ้าสังฆาฏิ อธิษฐานว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิษฐานมิ

ผ้าอุตตราสงค์ (จีวร) อธิษฐานว่า อิมํ อุตฺตราสงฺตํ อธิษฐานมิ

ผ้าอันตรวาสก (สบง) อธิษฐานว่า อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิษฐานมิ

บาตร อธิษฐานว่า อิมํ ปตฺตํ อธิษฐานมิ

ผ้าปูนั่ง อธิษฐานว่า อิมํ นิสีทนํ อธิษฐานมิ

ผ้าปูที่นอน อธิษฐานว่า อิมํ ปจฺจถรณํ อธิษฐานมิ

ผ้าอาบน้ำฝน อธิษฐานว่า อิมํ วสฺสิกสาฏิกํ อธิษฐานมิ


เนื้อที่พระภิกษุฉันไม่ได้ มีสิบอย่าง ชาวบ้านไม่ควรถวาย คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว และเนื้อเสือเหลือง


พระภิกษุใหม่จะต้องอยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ และเล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ตาม พระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้อง ให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามคติของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ให้สมกับที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา


Blog |
Line it!